รองเท้านารีเหลืองตรัง (Paphiopedilum godefroyae)

Group:

ชื่อไทย : รองเท้านารีเหลืองตรัง

ชื่อพ้อง : Cypripedium godefroyae God.-Leb.

ชื่อสามัญ :  Mrs. Godefroy’s Paphiopedilum

ชื่ออื่น :  เอื้องฝาหอย (เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein

ชื่อวงศ์ : ORCHIDACEAE

การกระจายพันธุ์ : พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงไม่เกิน 100 เมตร มีความผันแปรสูง บางครั้งแยกเป็น var. ang-thong (Fowlie) Braem หรือรองเท้านารีอ่างทอง ดอกเล็กกว่าแต่ก้านดอกยาวกว่า และ var. leucochilum (Rolfe) Hallier หรือรองเท้านารีเหลืองพังงา ดอกใหญ่ กลีบปากสีขาวไม่มีจุดสีม่วง

ลักษณะทั่วไป : กล้วยไม้ขึ้นบนดินหรือบนหินปูน ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาวได้ถึง 14 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีจุดสีม่วงกระจาย ขอบช่วงล่างมีขนครุย ช่อดอกมี 1-2 ดอก ก้านช่อยาว 4-8 ซม. ใบประดับสีม่วง รูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีขาวหรืออมเหลือง มีจุดสีม่วงกระจาย ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กว้าง ยาว 2.5-4.6 ซม. ปลายกลีบมนหรือกลม กลีบคู่ข้างรูปไข่ ยาว 2-4.5 ซม. ปลายกลีบมน กลีบดอกรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3.5-6 ซม. ขอบกลีบเป็นคลื่น ถุงกลีบปากยาว 2.5-4.2 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปรี ยาวประมาณ 7 มม. ปลายจักตื้น ๆ 1-3 จัก มีขนสั้นนุ่ม รังไข่รวมก้านดอกยาวประมาณ 4 ซม.
 



135 รองเท้านารีเหลืองตรัง (Paphiopedilum godefroyae)