บัวดินสีเหลือง(Zephyranthes citrina)

Group: ไม้หัว

ชื่อท้องถิ่นไทย : บัวดินสีเหลือง

ชื่อสามัญ : Yellow Rain lily
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zephyranthes citrina
ถิ่นกำเนิด : อเมริกา เม็กซิโก โคลัมเบีย กัวเตมาลา และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา โดยมีมากกว่า 50 ชนิด

ลักษณะทั่วไป :

       ลำต้น และราก บัวดินเป็นพืชล้มลุกที่มีหัวอายุยืนหลายปี มีระบบรากเป็นแบบรากฝอยอย่างเดียว โดยลำต้นจะเป็นหัวที่อยู่ใต้ดิน มีรูปร่างค่อนข้างกลมคล้ายหัวหอม โดยประกอบด้วยลำต้นจริงที่เปลี่ยนรูปไปเป็นฐานหัว ประกอบด้วยปล้องที่มีลักษณะสั้น และถี่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ และถูกห่อหุ้มด้วยโคนก้านใบ หรือที่เรียกว่า กาบหัว ห่อหุ้มซ้อนกันเป็นชั้นๆ จนกลายเป็นเนื้อหัวที่มีลักษณะอวบน้ำ ด้านนอกปกคลุมเยื่อบางๆ และมีลักษณะเป็นแผ่นแห้งสีน้ำตาลที่สามารถลอกออกได้ บางชนิดเป็นหัวแข็ง หรือค่อนข้างแข็ง มีขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยทั่วไปหัวมีขนาด 2-5 เซนติเมตร

       ใบ ใบมีรูปร่างเป็นเส้นแบนแคบๆ คล้ายใบหอม ปลายใบมน ขอบใบขนาน แต่บางชนิดมีใบแบบครึ่งวงกลม มีจำนวนใบต่อต้น 4-8 ใบ ใบยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร ใบกว้าง 0.35-0.8 เซนติเมตร ใบอ่อนชูตั้งตรง ใบแก่จะโค้งงอลงด้านล่าง และมักจะทิ้งใบแห้งตายไปพร้อมกับดอก แต่ใบจะงอกขึ้นมาใหม่ในช่วงต้นฤดูฝนในปีถัดไป แต่บางชนิดจะติดใบเขียวตลอดทั้งปี ดอก ดอกเป็นดอกช่อ แต่เจริญเพียง 1 ดอกในช่อดอก ก้านช่อดอกมีลักษณะเรียวยาว และกลวงภายใน เจริญขึ้นมาจากหัวในดินโดยไม่มีใบติด กาบหุ้มช่อดอกเป็นแผ่นบางโปร่งแสง มีแผ่นเดียวติดอยู่ที่ปลายของก้านดอกย่อย ปลายของกาบหุ้มช่อดอกอาจติดกันเป็นแผ่นหรือแยกเป็นสองแฉก

       ดอก ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ลักษณะดอกเป็นรูปกรวย โคนกลีบดอกรวมติดกันเป็นวง ซึ่งมีขนาดสั้นหรือยาวแล้วแต่ชนิด ส่วนปลายของวงแยกเป็นกลีบๆ เรียกว่า perianth – segment มีจำนวน 6 อัน หรือมากกว่า 6 อัน ดอกเหลือง กลีบเลี้ยง และกลีบดอกมีสีเดียวกัน ดอกออกในฤดูฝนบาน 1 – 2 วัน แล้วแต่สายพันธุ์หรือชนิด มีเกสรเพศผู้ 6 อัน อาจมีลักษณะ 3 อัน ยาวสลับกับ 3 อัน สั้น หรือยาวเท่ากันทั้ง 6 อัน มีก้านชูเกสรเพศผู้ตั้งตรงหรือโค้งไปข้างหน้าเล็กน้อยเชื่อมติดอยู่กับกลีบดอกชั้นในบริเวณคอหลอดหรือที่โคนของชั้นกลีบดอก ปลายก้านชูอับเรณูติดอยู่กลางอับเรณู ทำให้อับเรณูเคลื่อนไหวได้รอบทิศทาง อับเรณูมีรูปร่างยาวเรียว มีเกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบรวม มี 3 คาร์เพล ภายในรังไข่มีไข่อ่อนจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียเป็นท่อยาว และโค้ง ยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะเป็นแฉก 3 แฉกหรือเป็นปุ่ม

       บัวดินจะออกดอกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคม-เมษายน ของทุกปี และส่วนมากหลังจากเดือนเมษายนจะทิ้งใบ และดอกเหี่ยวแห้งลง ทั้งนี้ บัวดินจะออกดอกมากในช่วงฤดูฝน และจะบานมากในช่วง 2-4 วัน หลังฝนตกหนัก สำหรับต้นที่ปลูกด้วยเมล็ดจะออกดอกภายใน 5 เดือน หลังการปลูก

       ฝัก และเมล็ด ผลหรือฝัก แบ่งออกเป็น 3 ช่อง เปลือกค่อนข้างเกลี้ยง เมื่อผลแก่เปลือกแห้ง และแตกตามแนวกลางของแต่ละห้อง เมล็ดแบน เมื่อแก่เมล็ดมีสีดามีจานวนมากอัดแน่นอยู่ภายในผล โดยการติดเมล็ดของบัวดินนั้นค่อนข้างน้อย ประมาณ 10 เมล็ด/ฝัก แต่บางสายพันธุ์มีเมล็ด 25-30 เมล็ด

การปลูกบัวดิน : บัวดินเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในที่ชื้นแฉะ นิยมปลูก และขยายพันธุ์ด้วยการแบ่งหัวปลูก เนื่องจากหัวแก่จะแตกหัวย่อยออกไปเรื่อยๆ และนิยมปลูกทั้งบนแปลงจัดสวน และการปลูกในกระถาง แต่ทั่วไปนิยมปลูกในกระถางเป็นส่วนใหญ่

        นอกจากการปลูกด้วยการแบ่งหัวแล้ว ยังสามารถปลูกได้ด้วยการชำซีกหัว คล้ายกับการปลูกว่านสี่ทิศ โดยการผ่าแบ่งหัวออกเป็นส่วนๆ ด้วยการผ่าหัวผ่านตรงกลางในแนวตั้งเป็นซีกๆ โดยแต่ละซีกจะต้องให้มีฐานหัวที่มีรากหรือปุ่มรากติดมาด้วย ก่อนจะนำไปปักชำในกระถาง แล้วค่อยแยกลงปลูกในกระถางเมื่อมีการแตกใบ และสร้างหัวที่สมบูรณ์แล้ว อ่านเพิ่มเติมใน ว่านสี่ทิศ

        การปลูกลงแปลงจัดสวน ควรปลูกด้วยบัวดินชนิดเดียวหรือปลูกไม้ประดับอื่นที่มีลำต้นไม่สูง และไม่มีร่มเงามาก โดยเตรียมแปลงด้วยการขุดพรวนดิน พร้อมกำจัดหญ้าออกให้หมด หลังจากนั้น หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก เช่น มูลโค มูลไก่ เป็นต้น

        ส่วนการปลูกในกระถางจะใช้หัวปลูกประมาณ 3-5 หัว ขึ้นอยู่กับขนาดกระถาง โดยการใช้วัสดุปลูกที่เป็นดินผสมกับวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยคอก แกลบดำ และขุยมะพร้าว เป็นต้น อัตราส่วนของดินกับวัสดุทางการเกษตรที่ 1:3-5

การดูแลหลังการปลูกจำเป็นต้องให้น้ำอย่างพอเพียง และสม่ำเสมอ ซึ่งอาจให้น้ำวันละ 1 ครั้ง หรือ 2 วัน/ครั้ง ส่วนปุ๋ยที่ใส่ ควรให้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก เพราะจะช่วยให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ และอาจให้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยเพียงเล็กน้อย เช่น สูตร 15-15-15

การบัวดินให้ออกดอกหรือออกดอกอย่างต่อเนื่อง
      1. ตัดใบออกให้หมด พร้อมให้ปุ๋ย และน้ำ
      2. สำหรับบัวดินที่โตเต็มที่แล้ว สามารถบังคับให้ออกดอกได้ด้วยการงดให้น้ำ 2-10 สัปดาห์ หลังจากนั้น ค่อยให้น้ำอย่างเต็มที่
      3. ขุดหัวแก่ที่มีขนาดใหญ่มาผึ่งลม 6-10 สัปดาห์ หลังจากนั้น นำมาปลูกใหม่
      4. การทำให้ออกดอกอย่างสม่ำเสมอขึ้นอยู่กับการให้น้ำ และปุ๋ยอย่างเพียงพอ

โรค และแมลงศัตรู : บัวดินจะมีโรค และแมลงศัตรูคล้ายกับพืชที่มีหัว และดอกทั่วไป คือ โรครากเน่าหรือหัวเน่า ที่เกิดจากเชื้อราที่ทำให้ใบค่อยๆเหลือง ต่อมาปลายรากจะเน่า และลามมาที่หัว และโคนต้น ซึ่งจะเกิดมากในช่วงฤดูฝนทีอากาศมีความชื้น และความร้อนสูง ส่วนแมลงศัตรูพืชจะพบพวกหนอนผีเสื้อที่คอยกัดกินใบ และดอกเป็นสำคัญ

       ดอกบัวดินจะบานในช่วงเช้า และจะหุบลงในช่วงเย็น โดยดอกบัวดินจะบานอยู่ได้ประมาณ 2 วัน แล้วค่อยเหี่ยวแห้งไป โดยในวันแรกสีกลีบดอกจะมีสีเข้มมาก ส่วนวันที่ 2 สีจะค่อยๆจางลง

     

 



204 บัวดินสีเหลือง(Zephyranthes citrina)