รักเร่ (Dahlia)

Group: ไม้ดอก

ชื่อไทย : รักเร่

ชื่อสามัญ : Dahlia (ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr. Andreas Dahl นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน ที่มีผลงานการผสมพันธุ์รักเร่ให้เกิดพันธุ์ใหม่ๆขึ้น)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : ตามชนิด ได้แก่
– Dahlia hybrid (นิยมใช้ในปัจจุบัน เพราะพันธุ์ที่ปลูกส่วนมากเป็นพันธุ์ผสม)
– Dahlia pinnata (พันธุ์ดั้งเดิม ดอกสีม่วง)
– Dahlia Rosea (พันธุ์ดั้งเดิม ดอกสีกุหลาบ)
– Dahlia coccinea (พันธุ์ดั้งเดิม ดอกสีเหลือง)

วงศ์ : ASTERACEAE

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย : รักเร่ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก ต่อมาถูกนำเข้ามาปลูกในยุโรป อเมริกา และค่อยแพร่กระจายไปทั่วโลก ทั้งในประเทศเขตหนาว และประเทศเขตร้อน พันธุ์ที่นิยมปลูกในปัจจุบันเป็นพันธุ์ผสมที่ให้ดอกได้หลายสี

ลักษณะทั่วไป
      ลำต้น : ต้นรักเร่ เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นอาจแตกกิ่งเป็นทรงพุ่ม หรือ เป็นต้นเดียวไม่แตกกิ่ง ขนาดลำต้นสูงประมาณ 30-15 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เปลือกลำต้นทรงกลม มีสีเขียวหรือสีเขียวอมม่วงตามสายพันธุ์ และมีขนปกคลุม แก่นไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย

     รากใต้ดินแตกรากที่พองขยายเป็นหัวออกจำนวนมาก บางครั้งเรียกว่า หัวรักเร่ คล้ายหัวมันสำปะหลัง รากนี้ทำหน้าที่สะสมอาหารสำหรับเป็นอาหารแก่ต้นอ่อน ขนาดหัวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เปลือกหัวบาง มีสีครีมหรือเหลืองอมขาว และมีรากแขนงแทงออกประปราย ทำหน้าที่หาอาหารให้แก่ลำต้น ส่วนด้านในหัวเป็นเนื้อสีขาว

      ใบ : ใบรักเร่ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ แต่ละคู่สลับกันเป็นฉาก มีก้านใบหลักสีเขียว ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แต่ละก้านใบหลักประกอบด้วยใบย่อย จำนวน 3 หรือ 5 ใบ มีใบ 1 คู่ หรือ 2 คู่แรก อยู่ตรงข้ามกัน และมีขนาดเท่ากัน ส่วนใบที่ 3หรือใบที่ 5 อยู่ตรงกลางระหว่างคู่ใบ เป็นใบที่มีขนาดใหญ่กว่า แผ่นใบมีสีเขียวสด แผ่นใบเรียบ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย

      ดอก : ดอกรักเร่ ออกดอกเป็นกระจุกใหญ่ออกเดียวตรงปลายยอด ขนาดดอก 4-25 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ กลีบดอกอาจมีชั้นเดียวหรือเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆหลายชั้น กลีบดอกส่วนมากมักบิดงอ แผ่นกลีบดอกมีหลายสีตามพันธุ์ อาทิ สีแดง สีเหลือง สีม่วง สีขาว หรือสีหลายสีผสมกัน เป็นต้น ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย

      ผล : ผลรักเร่มีขนาดเล็กจำนวนมาก ผลมีลักษณะขอบขนาน เปลือกผลเป็นใยสีน้ำตาล ด้านในบรรจุเมล็ดขนาดเล็ก

ลักษณะดอกของรักเร่
      1. Anemone ลักษณะดอกแบบ Anemone มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงไม่เกิน 60 เซนติเมตร กลีบดอกมีชั้นเดียว ตรงกลางดอกนูน คล้ายกับหมอนปักเข็ม ดอกมีขนาด 2.5-5 เซนติเมตร ตัวอย่างพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Gitronelle ดอกสีเหลือง และพันธุ์ Vera ดอกสีม่วง เป็นต้น

      2. Ball ลักษณะดอกแบบ Ball มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงประมาณ 60-150 เซนติเมตร กลีบดอกมีหลายเดียว กลีบดอกเรียงเป็นรูปวงกลม ปลายกลีบมนหรือแหลม ปลายกลีบดอกงอออกจากจุดศูนย์กลางของดอก ขอบกลีบม้วนเข้าตรงกลาง ตัวอย่างพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Jeep ดอกสีขาว และพันธุ์ Mozart ดอกสีขาวบริสุทธิ์ เป็นต้น

      3. Cactus ลักษณะดอกแบบ Cactus มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกมีทั้งแบบเรียงซ้อน และไม่เรียงซ้อน กลีบม้วนงอ และบิดบริเวณขอบกลีบ แบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย คือ
– Incurved cactus มีลักษณะเด่น คือ ขอบกลีบดอกส่วนมากม้วนออก หรือ บางชนิดแหลม และปลายกลีบม้วนเข้ากลางดอก ได้แก่ พันธุ์ Patricia Spollen ดอกมีสีแดง ขนาดใหญ่ได้ถึง 25 เซนติเมตร
– Semi cactus มีลักษณะเด่น คือ ปลายกลีบดอกส่วนมากม้วนออกจากกลางดอก ได้แก่ พันธุ์ Theresa Louise ดอกมีสีเหลืองอมชมพู ขนาดใหญ่ได้ถึง 20 เซนติเมตร พันธุ์ Dandy Flame ดอกมีสีแดงสด
– Straight cactus มีลักษณะเด่น คือ ขอบกลีบดอกส่วนมากจะบิดที่ประมาณบริเวณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบดอก ได้แก่ พันธุ์ Clariam Royalty ดอกมีสีม่วงสด ขนาดใหญ่ได้ถึง 22 เซนติเมตร และพันธุ์ Jersey Uainty ขนาดดอกปานกลาง ดอกมีสีขาว และมีสีม่วงประ

      4. Collarette ลักษณะดอกแบบ Collarette มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงประมาณ 90-120 เซนติเมตร กลีบดอกแผ่ออกไม่มีปลายกลีบบิดเข้ากลาง กลีบดอกมีทั้ง 2 หรือ 3 ชั้นหลีบดอกชั้นในมีขนาดเล็กกว่าชั้นนอก แต่ละชั้นอาจมีสีเดียวกันหรือต่างกัน ขนาดดอกประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ La Cierva กลีบดอกมีสีแดงเข้มอมขาวเล็กน้อย และพันธุ์ Coincident กลีบดอกมีสีแดงเลือดนก ขอบกลีบดอกมีสีเหลือง

      5. Dwarf ลักษณะดอกแบบ Dwarf มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ดอกมีขนาด 8-15 เซนติเมตร เหมาะสำหรับปลูกในแปลงจัดสวน เพราะลำต้นไม่สูงมาก ได้แก่ พันธุ์ Easter Greeting ดอกมีสีขาว และพันธุ์ Nickie ดอกมีสีเหลือง

      6. Formal decorative ลักษณะดอกแบบ Formal decorative มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น กลีบดอกชั้นนอกโค้งออก กลีบดอกสั้น และม้วนงอ ขนาดดอกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Arthur Godfrey ดอกมีสีแดง และพันธุ์ Kirsten Flagstad ดอกมีสีเทาอ่อน

      7. Informal decorative ลักษณะดอกแบบ Informal decorative มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น แต่ละกลีบเรียงกันไม่ค่อยเป็นระเบียบ กลีบดอกค่อนข้างยาว และกว้าง ขนาดดอกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Windlassie ดอกมีสีขาว และพันธุ์ Kelvvin ดอกมีสีชมพูอมทอง

      8. Miniature ลักษณะดอกแบบ Miniature มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกมีลักษณะซ้อน ดอกมีขนาดเล็ก ประมาณ 5-10 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Hazel haper ดอกมีสีชมพูอ่อน และพันธุ์ Ryby charm ดอกมีสีแดง

      9. Peony ลักษณะดอกแบบ Peony มีลักษณะเด่น คือ ดอกมีประมาณ 2-3 ชั้น กลางดอกแผ่ออก กลีบดอกม้วนงอ ดอกมีนาดเล็ก ได้แก่ พันธุ์ Bishop of Llandaff ดอกมีสีแดงเข้ม และพันธุ์ Pink lassie ดอกมีสีชมพูอ่อนคล้ายกุหลาบ

     10. Pompons ลักษณะดอกแบบ Pompons มีลักษณะเด่น คือ ดอกซ้อนกันหลายชั้น กลีบดอกม้วนงอ ตัวดอกมีลักษณะกลม ขนาดดอกเล็ก ประมาณ 5-6 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Little boddy ดอกมีสีเหลืองอ่อน พันธุ์ Atom ดอกมีสีแดงสด และพันธุ์ Mike ดอกมีสีส้ม

      11. Singles ลักษณะดอกแบบ Singles มีลักษณะเด่น คือ ดอกมีชั้นเดียว กลางดอกแผ่ออก กลีบดอกม้วนงอขึ้นหรือลง ขนาดดอกประมาณ 2.5-15 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Bruno ดอกมีสีส้ม และพันธุ์ James weller ดอกมีสีเหลืองสด

      12. Orchid flowering ลักษณะดอกแบบ Orchid flowering มีลักษณะเด่น คือ ดอกมีรูปดาว กลีบดอกมีชั้นเดียวหรือ 2 ชั้น กลางดอกแผ่ออก กลีบดอกแต่ละกลีบยาว และม้วนลง ขนาดดอก ประมาณ 10-13 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Lone star ดอกมีสีส้ม พันธุ์ Everest ดอกมีสีขาวบริสุทธิ์ และพันธุ์ Collegiate ดอกมีสีน้ำตาลอ่อน

ประโยชน์รักเร่ :
      1. รักเร่เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกมาตั้งแต่หลายร้อยปีแล้ว และนิยมปลูกกันทั่วโลก เนื่องจาก ดอกมีขนาดใหญ่ ตัวดอกมีสีสดใส สวยงาม และอายุการบานของดอกนาน 7-10 วัน และออกดอกได้ 2-3 ชุด หรือในแต่ละต้นจะมีดอกให้ชม นาน 14-30 วัน แต่ถือเป็นชนิดที่ยังไม่ได้รับความนิยมในเมืองไทย
      2. ดอกรักเร่ ต่างประเทศนิยมใช้ใช้ปักแจกัญสำหรับวางประดับในบ้านหรือนำดอกมาตกแต่งซุ้มงานพิธีต่างๆ
      3. ดอกรักเร่ ใช้สกัดเป็นสีผสมอาหาร
      4. ดอกรักเร่ใช้ต้มย้อมผ้า ให้สีผ้าหลายสีตามสีของดอก
      5. หัวรักเร่ นำมาต้มรับประทานได้ แต่ไม่นิยมนัก เพราะนิยมปลูกเพื่อการประดับดอกมากกว่า
      6. หัวรักเร่ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ อาทิ สุกร ไก่ และเป็ด

การปลูกรักเร่ : รักเร่ขยายพันธุ์ได้ 4 วิธี ได้แก่
      1. การปักชำ (นิยมมากเพื่อค้าขาย) แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
– การปักชำใบ ด้วยการเฉือนให้มีกาบลำต้นติดมาด้วย ก่อนปักชำลงในถาดหลุม เมื่อแทงหน่อใหม่จึงนำเพาะในถุงเพาะชำต่อ
– การปักชำกิ่ง ด้วยการเลือกตัดกิ่งอ่อนปักชำในถาดหลุม เมื่อรากงอก และเริ่มแตกใบ จึงนำเพาะดูแลต่อในถุงเพาะชำ หากเพาะชำในพื้นที่อากาศเย็น รากจะแทงออกภายในประมาณ 2-3 สัปดาห์
      2. การแบ่งหัว
การแบ่งหัว คือ การตัดแบ่งหัวรักเร่แยกปลูก ทั้งนี้ ต้นรักเร่ที่โตเต็มที่จะมีหัวรักเร่ 2 ชนิด คือ
– หัวแม่พันธุ์เดิม เป็นหัวรักเร่ที่ใช้ปลูกในครั้งแรก เป็นหัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่บริเวณตรงกลางของเหง้า เปลือกหัวมีสีน้ำตาล และมักแตกเป็นร่อง
– หัวเกิดใหม่ เป็นหัวรักเร่ที่แตกออกหลังการเติบโตของต้น หัวแตกออกจำนวนมาก ล้อมรอบหัวแม่พันธุ์ แต่หัวจะมีขนาดเล็กกว่าหัวแม่พันธุ์ เปลือกหัวมีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม

      การปักชำหัว จะใช้หัวรักเร่ที่เกิดใหม่ ด้วยการตัดแบ่งหัว โดยตัดเฉือนให้แต่ละหัวมีโคนเหง้าติดมาด้วย เพาะตายอดอ่อนจะอยู่บริเวณปลายขั้วหัวที่ติดกับเหง้า จากนั้นนำลงเพาะในแปลงเพาะรวมก่อน เมื่อหัวแทงหน่อค่อยย้ายลงเพาะต่อในถุงเพาะชำ ทั้งนี้ การปลูกด้วยหัวอาจไม่ตำเป็นต้องเพาะก่อน แต่สามารถนำหัวลงปลูกในแปลงได้โดยตรงก็ได้

       3. การต่อกิ่งหรือเสียบยอด
เป็นวิธีที่ใช้ส่วนราก และกิ่งมาเสียบต่อกัน ด้วยการตัดรากในแนวเฉียงขึ้น และตัดเฉือนกิ่งในแนวเฉียงลง โดยกิ่งให้ตัดส่วนยอดออก จากนั้น นำราก และกิ่งมาทาบประกบกัน โดยให้แผลบริเวณเฉือนของทั้ง 2 ส่วน ประกบกันสนิท ก่อนปิดรัดด้วยเทป แล้วนำลงเพาะในถุงเพาะชำหรือในกระถาง เมื่อต้นติดแล้วค่อยนำลงปลูกในแปลงหรือนำกระถางมาวางประดับได้เลย

      4. การเพาะเมล็ด
วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย และรวดเร็ว ได้กล้าจำนวนมาก ด้วยการนำเมล็ดมาเพาะในถาดหลุมก่อนหรือเพาะในแปลงเพาะ ซึ่งต้นอ่อนจะงอกภายใน 3-4 สัปดาห์ จากนั้น นำต้นกล้าอ่อนลงเพาะต่อในถุงเพาะชำหรือในกระถาง ทั้งนี้ อาจนำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำหรือในกระถางได้โดยตรงก็ได้

การเตรียมวัสดุเพาะ และวัสดุใช้ปลูก : วัสดุที่ใช้เพาะกล้ารักเร่ ควรเป็นดินผสมกับอินทรียวัตถุ ด้วยการใช้ดินคลุกกับแกลบดำ และทราย ในอัตราส่วน 1:3:1 ส่วนวัสดุที่ใช้ปลูก โดยเฉพาะการปลูกในกระถาง หรือปลูกในถุงเพาะชำ ให้ใช้วัสดุที่เตรียมสำหรับการเพาะกล้าได้เลย หรืออาจปรับอัตราส่วนด้วยการเติมดินให้มากขึ้นหรือลดอัตราส่วนของแกลบดำให้เหลือ 2 ส่วน

การเตรียมแปลงปลูก : สำหรับการปลูกในแปลงจัดสวน ให้เตรียมแปลงด้วยการพรวนดิน และกำจัดวัชพืช พร้อมตากดินนาน 3-5 วันก่อน จากนั้น นำปุ๋ยคอกหว่านโรย ก่อนพรวนผสมให้เข้ากัน แล้วค่อยนำต้นกล้าลงปลูก

การใส่ปุ๋ย : การใส่ปุ๋ยรักเร่ควรเน้นที่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังการปลูกประมาณ 2-3 สัปดาห์ และอีกครั้งที่ต้นเริ่มออกดอก หรือประมาณ 8-9 สัปดาห์

การให้น้ำ : หลังการปลูกในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก ให้น้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้น ให้วันเว้นวัน ในปริมาณที่หน้าดินชุ่ม และเพิ่มการให้น้ำเป็นวันละครั้งในช่วงเริ่มออกดอก

การขุดเก็บหัว และการเก็บรักษาหัว : หลังจากที่ดอกบาน และร่วงหมดต้นแล้ว และใบเริ่มเหลือง ให้ตัดต้นทิ้ง โดยให้ตัดสูงจากโคนต้นขึ้นมาประมาณ 3 นิ้ว แต่หากต้องการขุดเหง้าหรือหัวมาเก็บไว้ ควรขุดในช่วงที่ต้นกำลังเหี่ยวแห้ง หลังจากขุดขึ้นมาแล้ว ให้นำเหง้ามาล้างทำความสะอาด ผึ่งลมให้แห้ง ก่อนนำเก็บในกล่องพลาสติก ด้วยการจัดเรียงเหง้าให้เป็นระเบียบ ก่อนนำทรายหรือแกลบดำมาเทกลบ รวมถึงหญ้าแห้งมากลบทับ ทั้งนี้ ระวังห้ามไม่ให้ทรายหรือแกลบดำเปียกน้ำหรือมีความชื้น ซึ่งวิธีเก็บนี้ จะเก็บรักษาเหง้าได้ 2-3 เดือน

เอกสารอ้างอิง
(1) กุหลาบ คงทอง. 2539. การเพาะเลี้ยงรักเร่ในสภาพปลอดเชื้อ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(2) ศิริชัย กิตยารักษ์. 2505. การเปรียบเทียบส่วนผสมของเครื่องปลูก-
และเวลาการให้ปุ๋ยสำหรับปลูกรักเร่. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 



53 รักเร่ (Dahlia)