สตรอเบอรี่ป่า (Duchesnea indica)

Group:

สตรอเบอรี่ป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Duchesnea indica (Jacks.) Focke (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Duchesnea indica var. indica) จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ

ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ: ว่า ยาเย็น (เชียงใหม่), จั่วผู่ท้อ จั่วม่วย ฮ่วยเสี่ยเถาเช่า (จีนแต้จิ๋ว), เสอเหมย (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของสตรอเบอรี่ป่า

ต้นสตรอเบอรี่ป่า จัดเป็นไม้เลื้อยคลุมดิน มีเหง้าอยู่ใต้ดินและมีไหลหรือลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ยาวได้ประมาณ 1 เมตร มีข้อสั้น ตามข้อต้นมีราก ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 8-15 เซนติเมตร อาจมีขนสั้นหรือขนยาวปกคลุมต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการแยกไหล (โดยการตัดไหลที่มีรากแล้วชำลงในดินที่ผสมขุยมะพร้าว) เจริญเติบโตได้ดีและเร็วในดินร่วนซุย มีความชื้นปานกลาง เป็นไม้กลางแจ้ง และชอบอากาศเย็น

ใบสตรอเบอรี่ป่า ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ก้านใบประกอบยาวได้ประมาณ 5-8 เซนติเมตร ก้านใบก้านหนึ่งจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 3-5 ใบ ออกเรียงสลับ แต่ก้านใบย่อยไม่มีจะแตกออกในจุดเดียวกัน โดยลักษณะของใบย่อยจะเป็นรูปมนรี ปลายใบมน โคนใบเรียวเล็กจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 นิ้ว และยาวประมาณ 0.5-1.5 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียว ด้านล่างมีขนสั้น ๆ สีขาวปกคลุมอยู่ ส่วนด้านบนไม่ค่อยมี

ดอกสตรอเบอรี่ป่า ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ โดยมากก้านช่อดอกจะมีความยาวมากกว่าก้านใบ โดยก้านช่อดอกจะยาวประมาณ 5.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองมีกลีบดอก 3-5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ซ้อนกัน 2 ชั้น เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 12-15 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นกลีบแหลมพุ่งออกมา มีประมาณ 3-5 กลีบ และมีขนปกคลุมอยู่บาง ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้มาก

ผลสตรอเบอรี่ป่า ผลติดรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นรูปทรงกลมยาวแบน ฉ่ำน้ำ ส่วนลักษณะของผลจะเป็นลูกเล็ก ๆ เมื่อสุกจะเป็นสีแดงสด และมีอยู่เป็นจำนวนมาก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ห่อหุ้มไปด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวหรือฐานรองดอกที่ขยายตัวเป็นรูปทรงกลม ฉ่ำน้ำ

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรสตรอเบอรี่ป่า

  • สำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนเพลีย ร่างกายพร่อง และสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน[1]
  • ผลสุกมีพิษห้ามนำมารับประทาน

ประโยชน์ของสตรอเบอรี่ป่า

  • สตรอเบอรี่ป่า มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สตรอเบอรี่ป่าประดับ" นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับครับ ดอก ใบ และผลดูแล้วสวยงามดี แต่ผลไม่นิยมนำมารับประทานเพราะมีรสจืดไม่เหมาะกับมนุษย์ แต่นกจะชอบ

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  สตรอเบอรี่ป่า”.  หน้า 740-742.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สตรอเบอรี่ป่า”.  หน้า 98.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “สตรอเบอรี่ป่า”.  หน้า 540.

 



64 สตรอเบอรี่ป่า (Duchesnea indica)