ปทุมมา,กระเจียว (Curcuma)

Group:

ชื่อไทย : ปทุมมา,กระเจียว

ชื่อสามัญ :    Siam Tulip , Summer Tulip

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma alismatifolia

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

ลักษณะทั่วไป

ปทุมมาและกระเจียว Curcuma spp. เป็นพืชในวงศ์ขิง Zingiberaceae สกุลขมิ้น ซึ่งคนไทยรู้จักมานานเป็นพืชสมุนไพร และสามารถนำมาบริโภคได้ ต่อมาพืชสกุลนี้ของไทยเป็นที่รู้จักในฐานะไม้ดอกเขตร้อน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดปัจจุบัน พืชสกุลขมิ้นทั้งปทุมมาและกระเจียวของไทย เป็นที่นิยมในหลายประเทศ ปทุมมาสามารถใช้เป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง ไม้ประดับ ส่วนกระเจียวส้ม กระเจียวชมพู นำมาใช้เป็นไม้ตัดดอก ไม้ประดับสวน ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การผลิตหัวพันธุ์เพื่อส่งขายต่างประเทศ ในประเทศไทยมีพืชน้อยชนิดที่สามารถส่งออกได้ก็นับว่าเป็นโอกาสทองที่สามารถนำรายได้เข้าประเทศก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้แหล่งผลิตหัวพันธุ์เพื่อการส่งออก คือ เชียงใหม่ และเชียงราย เป็นส่วนใหญ่

การปลูกเลี้ยงและการดูแลรักษา
ปทุมมาและไม้ดอกสกุลขมิ้น เป็นไม้หัวที่มีการพักตัวในช่วงวันสั้น โดยอุณหภูมิมีผลต่อการพักตัวโดยจะพักตัวในเดือนตุลาคม และจะเจริญเติบโตใหญ่อีกครั้งประมาณปลายเดือนมีนาคม ควรปลูกตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน สภาพดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินที่มีอินทรียวัตถุสูงมักระบายน้ำได้ดี ปลูกได้ทั้งในแปลงปลูก และปลูกในถุง การปลูกในแปลงควรใส่ปุ๋ยหมักอัตรา 3-6 ตันต่อไร่ ไถตากดินไว้ประมาณ 1 เดือน ขนาดแปลงกว้าง 1.20-1.40 เมตร ความยาวตามสภาพพื้นที่ สิ่งที่จำเป็นที่สุด คือ การใส่ปูนขาวก่อนเตรียมแปลงจะช่วยปรับสภาพดิน และช่วยลดการเกิดโรค ส่วนการปลูกในถุงหรือปลูกในกระถาง ควรใช้วัสดุปลูกที่มีส่วนผสมดังนี้ ทราย ขุยมะพร้าว ถ่านแกลบ อัตราส่วน 2:1:1 หรืออาจจะปรับให้เหมาะสมกับวิธีการให้น้ำ การปลูกในแปลงระยะการปลูกก็ขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่มและการแตกกอมาก เช่น ปทุมมา บัวชั้น กระเจียวส้ม ควรใช้ระยะปลูก 30 เซนติเมตร ถ้าปลูกในกระถางหรือถุงปลูกควรเป็นขนาด 12 นิ้ว ส่วนชนิดที่มีทรงพุ่มเล็กการแตกกอค่อนข้างน้อย เช่น ปทุมรัตน์ เชียงใหม่-สโนว์  ควรมีระยะการปลูกแคบลง หรือปลูกในกระถางหรือถุงปลูกขนาดเล็กลง เพื่อให้สมส่วนกับขนาดทรงพุ่ม

วิธีการปลูกเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการแตกกอ คือ การปลูกให้ยอดของเหง้าชี้ลง โดยให้เหง้าถูกกลบลึกราว 5 เซนติเมตร การวางเหง้าโดยวิธีนี้จะทำให้อิทธิพลการข่มของตายอดลดลง ตาข้างบนหัวพันธุ์สามารถเจริญเป็นหน่อใหม่ได้ จะทำให้ปริมาณหน่อเพิ่มขึ้น สำหรับการปลูกเพื่อผลิตเป็นไม้กระถางควรปลูก 2-3 หัวต่อกระถาง เพื่อให้ได้หน่อมากและทรงพุ่มสมดุลกับกระถาง

การขยายพันธุ์ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี

การเพาะเมล็ด
ซึ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศ วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณหรือเพื่อการพัฒนาพันธุ์ การผสมพันธุ์ของไม้ดอกกลุ่มกระเจียว และกลุ่มปทุมมาพร้อมที่จะมีการถ่ายละอองเรณูได้ตั้งแต่ดอกเริ่มบานจนถึง 10.00 น. ละอองเรณูของไม้ดอกประเภทนี้มีความเป็นหมันในระดับปานกลางถึงสูง ต้องรีบถ่ายละอองเรณูในขณะที่ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ระดับสูง การถ่ายละอองเรณูทำได้โดยใช้ไม้จิ้มฟันปลายแหลมขูดละอองเรณูของต้นแม่พันธุ์ทิ้ง โดยขูดจากปลายอับเรณูลงมาทางด้านโคนแล้วจึงขูดละอองเรณูของต้นพ่อพันธุ์มาแตะที่ปลายยอดเกสรตัวเมีย จากนั้นเด็ดส่วนปากซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งแมลงชอบลงมาเกาะ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการผสมทับหลังจากผสมพันธุ์แล้วควรแขวนป้ายแม่พันธุ์ ? พ่อพันธุ์ วันที่ผสมเมื่อถ่ายละอองได้ 2-3 วัน ควรฉีกใบประดับที่รองดอกออกเพื่อตรวจดูว่ามีการพัฒนาของผลขึ้น หรือไม่หากมีการพัฒนาขึ้นก็ต้องกำจัดดอกที่เหลือในช่อดอกย่อยนั้นทิ้งเพื่อป้องกันความสับสน

หลังจากการถ่ายละอองได้ 1-2 เดือน ฝักจะเริ่มแตก เมล็ดแก่จะดีดออกจากฝัก ควรรีบนำเมล็ดมาเพาะโดยใช้วัสดุดังนี้ ทรายหยาบผสมถ่านแกลบ อัตราส่วน 1:1 โดยเพาะเมล็ดลึก 0.5-1 เซนติเมตร เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตมีใบจริง 5 ใบ ก็แยกต้นกล้าไปปลูกโดยปีแรกจะสร้างหัวขนาดเล็กไม่สามารถให้ดอกได้ ปีที่ 2 จะสร้างดอกและหัวพันธุ์ขนาดใหญ่ขึ้น

การแยกเหง้า
เป็นวิธีการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ปทุมมาและพืชชนิดใกล้เคียงนั้น มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน ในหนึ่งฤดูปลูกนั้นเหง้า 1 เหง้าจะเกิดเป็นลำต้นเทียม 1-2 ต้น ซึ่งจะแตกออกไประหว่างฤดูปลูกประมาณ 2-20 หน่อขึ้นอยู่กับชนิดของพืชนั้นๆ

การผ่าเหง้า
นำเหง้าที่มีการแยกเหง้าแล้วมาผ่าตามแนวยาวเป็น 2 ชิ้นเท่าๆ กัน แนวการผ่าจะต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างตาที่อยู่ทั้งสองข้างของเหง้า ชิ้นที่ได้ควรมีตาข้างที่สมบูรณ์ไม่ต่ำกว่า 1 ตา มีรากสะสมอาหารอย่างน้อย 1 ราก เมื่อผ่าเสร็จควรทาปูนแดงหรือยากันเชื้อตรงแผลที่ผ่าเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้า ชิ้นที่ผ่าควรปลูกโดยเร็วชิ้นที่ปลูกจะงอกช้ากว่าปกติและดอกไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เพราะมีอาหารสะสมน้อยกว่าปกติ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
เป็นวิธีการเพิ่มปริมาณพืชโคลนเดียวกันให้มากขึ้นในเวลาอันสั้น ชิ้นส่วนที่นิยมใช้ในการขยายโดยวิธีนี้คือ ช่อดอกอ่อน ระยะที่เหมาะสมควรเป็นช่อดอกที่เพิ่งโผล่ออกจากลำต้นเทียม การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะใช้ระยะเวลา 2 ปี ถึงจะให้ช่อดอกและหัวพันธุ์ที่สมบูรณ์

การพรางแสง
ตามธรรมชาติพืชกลุ่มปทุมมาและกระเจียวขึ้นได้ดีในสภาพป่าละเมาะ และทุ่งหญ้า เจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีแสงผ่าน 30-100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการปลูกก็ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและจุดประสงค์ของผู้ปลูก เช่น ถ้าปลูกเป็นไม้ตัดดอกต้องการก้านช่อดอกยาวก็ควรพรางแสงมากเพื่อให้ก้านช่อดอกยาว ถ้าเป็นไม้กระถางควรพรางแสงน้อย ก้านช่อดอกก็จะสั้น เช่น ปทุมมามักจะปลูกกลางแจ้ง โดยธรมชาติจะขึ้นตามทุ่งหญ้า ส่วนกลุ่มกระเจียวจะมีการพรางแสงเนื่องจากธรรมชาติขึ้นในป่าละเมาะที่มีต้นไม้ใหญ่ช่วยพรางแสง

การให้ปุ๋ย
การให้ปุ๋ยปทุมมาและกระเจียวควรให้ปุ๋ยตั้งแต่ปลูก โดยก่อนปลูกควรรองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตราการให้ 1 ช้อนชาต่อหลุม หลังจากแทงหน่อ 1 เดือน ควรให้เดือนละ 1 ครั้ง โดยช่วงก่อนฤดูฝนควรให้ปุ๋ยเคมีที่มีสูตรไนโตรเจนสูง หรือสูตรเสมอเพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้น เช่น สูตร 21-7-14, 15-0-0 และ 15-15-15 ในช่วงฤดูฝนควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสและโปรแตสเซียมสูง เนื่องจากได้รับธาตุไนโตรเจนจากน้ำฝนแล้ว ควรให้ปุ๋ยโป-        แตสเซียมสูง จะมีการสะสมอาหารไว้ในเหง้าและตุ่ม จะทำให้เหง้ามีขนาดใหญ่ สมบูรณ์ ดอกมีคุณภาพ ถึงอย่างไรก็ตามควรให้ปุ๋ยหมักบ้างเพื่อปันสภาพดิน ช่วยการระบายน้ำ ให้โดยการพรวนดินแล้วโรยรอบๆ อัตราการให้ประมาณ 1 ถ้วยกาแฟต่อกอ

การให้น้ำ
น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืช เพื่อการสร้างอาหารระบายความร้อน สำหรับพืชกลุ่มปทุมมาและกระเจียวในแปลงปลูกอาจจะให้น้ำตามร่องหรือให้ระบบสปริงเกอร์ ตลอดจนใช้สายยางรด ถ้าปลูกในถุงหรือกระถางก็ให้โดยระบบสปริงเกอร์ และใช้สายยางรด ควรรดวันละครั้งยกเว้นฝนตก เวลาให้น้ำควรเป็นตอนเช้าและควรแห้งในตอนเย็น ถ้าต้นพืชเปียกน้ำในตอนกลางคืนโอกาสเกิดโรคค่อนข้างสูง การคลุมแปลงปลูกด้วยต้นฟางข้าว หรือหญ้าคาจะช่วยลดการระเหยของน้ำ รักษาความชื้นในดินได้ดี

โรคและศัตรูพืช

โรคเน่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum เชื้อนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีสภาพเป็นด่างและการทำลายเชื้อทำได้ยาก นอกจากก่อนปลูกไถดินแล้วตากอย่างน้อย 10 วันและใส่ปูนขาวก่อนปลูกจะช่วยลดการระบาดได้ระดับหนึ่ง และสารเคมีที่ควบคุมเชื้อ คือ ฟอร์เต้และเด็กซานหรือยาปฏิชีวนะ โดยใช้เป็นครั้งคราว การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ใช้หัวพันธุ์ที่ปลอดเชื้อ และปลูกในพื้นที่ซึ่งปลอดเชื้อ

โรคเน่า เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia สารเคมีที่ใช้คือ รอฟรัล

แมลง ที่พบทำลายไม้ดอกสกุลนี้ ได้แก่ หนอนม้วนใบ ตั๊กแตน หอย และไรแดง ทำลายใบประดับ สารเคมีที่ใช้กำจัด ได้แก่ อโซติน โอไมท์

การเก็บเกี่ยว
หัวพันธุ์

พืชกลุ่มปทุมมาและกระเจียว จะเริ่มพักตัวในเดือนตุลาคม หลังจากนั้นลำต้นเทียมจะเริ่มแห้งเมื่อลำต้นเทียมแห้งดีแล้วควรขุดเหง้าขึ้นจากแปลงปลูก ควรขุดเหง้าไม่ให้มีบาดแผล ส่วนใหญ่จะรดน้ำแปลงปลูกให้ชุ่มเพื่อง่ายต่อการขุด หลังจากขุดเหง้าหร้อมรากสะสมอาหารแล้ว ควรนำไปทำความสะอาดโดยใช้น้ำฉีดเอาดินที่ติดมาออกให้หมด เมื่อล้างสะอาดแล้วผึ่งบนตะแกรงในร่มที่ระบายอากาศได้ดี เมื่อแห้งแล้วหักเป็นหัวตามรอยต่อแล้ววัดขนาดหัวพันธุ์ตามเกรด ถ้าหัวพันธุ์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร และมีรากต้นไม่น้อยกว่า 3 ต้นเป็นคุณภาพที่สามารถส่งออกได้ และหัวพันธุ์ควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีการระบายอากาศได้ดี เช่น ตะกร้าหรือกล่องที่มีรูระบายอากาศได้ดีแล้วเก็บไว้ในที่ร่มสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 4 เดือน ไม่มีผลต่อการนำไปใช้ในการผลิตในครั้งต่อไป

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
ในส่วนของการตัดดอกกลุ่มปทุมมาระยะที่เหมาะสมในการตัดในระยะที่ดอกบานแล้ว 3-5 ดอก

 



81 ปทุมมา,กระเจียว (Curcuma)