ตาเป็ดตาไก่

Group:

ชื่อไทย : ตาเป็ดตาไก่

ชื่อสามัญ :

ชื่อวิทยาศาสตร์: Ardisia crenata Sims

วงศ์ : PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)

ลักษณะทั่วไป
    ต้นตาเป็ดตาไก่ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร พบขึ้นตามพื้นที่ป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งทั่วทุกภาคของประเทศ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำดี ต้นตาเป็ดตาไก่ ใบตาเป็ดตาไก่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบหยักมนและมีต่อม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบเป็นสีเขียวสด เมื่อใบดกจะเป็นพุ่มน่าชมยิ่งนัก ใบตาเป็ดตาไก่ดอกตาเป็ดตาไก่ ออกดอกเป็นช่อคล้ายซี่ร่ม โดยจะออกที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมี 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมกันเป็นรูประฆัง ดอกเป็นสีชมพูแกมขาว หรือสีม่วงแกมชมพู ผิวมีต่อมกระจาย ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 4-5 อัน ติดที่หลอดกลีบดอก เกสรเพศเมีย มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ

สรรพคุณของตาเป็ดตาไก่

  1. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยเจริญอาหาร (ราก)[1]
  2. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทั้งต้น ผสมกับสมุนไพรจำพวกประดงรวม 9 ชนิด แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคประดง (ทั้งต้น)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้ปากเปื่อย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
  4. ขูดเปลือกใช้ห่อใบพลูย่างไฟอบไข้ (เปลือก)[3]
  5. ใบใช้ต้มกับน้ำอาบแก้ผื่น ตุ่มตามผิวหนัง (ใบ)

ประโยชน์ของตาเป็ดตาไก่

  1. ยอดใช้รับประทานเป็นผักสด[3]
  2. ผลสุกมีรสหวานใช้รับประทานได้[3]
  3. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เวลาติดผลจะดกเต็มต้น เมื่อผลสุกจะเป็นสีแดงสดใส ทำให้ดูสวยงามมาก นิยมนำมาปลูกลงในกระถางขนาดเล็กหรือใหญ่ตามขนาดของต้น โดยสูตรในการปลูกนั้นจะใช้ดิน 1 ส่วน ทรายหยาบ 1 ส่วน กาบมะพร้าวแห้งหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 1 ส่วน เพื่อให้ช่วยอุ้มน้ำทำให้ชุ่มชื้นตลอดเวลา แกลบดำ 1 ส่วน และปุ๋ยคอกอีก 1 ส่วน นำมาคลุกให้เข้ากันจนได้ที่ จากนั้นนำต้นลงปลูกในกระถางที่ระบายน้ำกระถางได้ดี แล้วนำไปตั้งบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงและมีลมพัดโกรกตลอดวัน รดน้ำพอชุ่มเช้าและเย็น บำรุงด้วยปุ๋ยประเภทขี้วัวแห้ง นำมาโรยรอบโคนต้นทุก 15 วัน จะทำให้ต้นโตเร็วและตกผลดกเต็มต้น[5]
  4. สำหรับชาวญี่ปุ่น ต้นตาเป็ดตาไก่นั้นถือเป็นไม้มงคล ที่ใช้สำหรับส่งมอบเป็นของขวัญแก่ผู้เป็นที่รักนับถือในช่วงเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากผลสุกของต้นตาเป็ดตาไก่นั้นเป็นสีแดงสดงดงามคล้ายสีดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของญี่ปุ่น[5]

 

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “จ้ำเครือ”.  หน้า 40.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ตาไก่ใบกว้าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [10 ม.ค. 2015].
  3. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ตีนเป็ด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [10 ม.ค. 2015].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ตาเป็ดเขา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [10 ม.ค. 2015].
  5. ไทยรัฐออนไลน์.  “ตาเป็ดตาไก่ ไม้มงคลญี่ปุ่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.  [10 ม.ค. 2015].

 

 

 

 



89 ตาเป็ดตาไก่